น้ำผลไม้เพื่อสุขภาพที่ดี

ปัจจุบันการรับประทานอาหารเป็นยากำลังได้รับการแนะนำและศึกษาค้นคว้ากันมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เพียงแต่ถูกลืมมาเป็นเวลาช้านาน แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่เราจะรื้อฟื้นและหันมาให้ความสนใจกับผักและผลไม้รอบตัวเราให้มากขึ้น การทานผักและผลไม้ให้ได้ประโยชน์ ไม่เพียงแต่จะทำให้เราอิ่มท้องเท่านั้น ผักและผลไม้ที่อยู่รอบตัวเราล้วนแต่เป็นยา ที่ไม่เพียงแต่รักษาโรค แต่ยังเป็นอาหารที่ป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้อีกด้วย

ข้อควรรู้ในการรับประทานผักและผลไม้ห้าสีห้ารส

รสของผักและผลไม้ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกที่สัมผัสได้ผ่านลิ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักที่เราสามารถนำไปใช้ในการปรับสมดุลของร่างกายอีกด้วย แพทย์จีนเชื่อว่ารสทั้ง 5 สีทั้ง 5 และอวัยวะทั้ง 5 ล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อห้ามและความสัมพันธ์ระหว่าง “สีทั้ง 5” “รสทั้ง 5” และ “อวัยวะทั้ง 5” จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถเลือกผักและผลไม้ที่เหมาะสมกับสุขภาพของตนเองมากที่สุดได้

สีเหลือง บำรุงม้าม รสหวานเข้าสู่ม้าม ผู้ที่มีสีหน้าซีด ขาดสีเหลืองสดใส ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีสีเหลืองและรสหวาน เช่น แครอท เป็นต้น

สีแดง บำรุงหัวใจ รสขมเข้าสู่หัวใจ หากอยากให้มีใบหน้าเปล่งปลั่งด้วยเลือดฝาด ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีสีแดงและรสขมมากๆ เช่น มะเขือเทศ ส้ม เป็นต้น

สีเขียว บำรุงตับ รสเปรี้ยวเข้าสู่ตับ ผู้ที่มีสีหน้าออกเขียวไม่ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีสีเขียวและรสเปรี้ยวมากเกินไป แต่ควรรับประทานผลไม้จำพวกมะละกอ ทับทิม ฯลฯ ให้มาก

สีดำ บำรุงไต รสเค็มเข้าสู่ไต ผู้ที่มีสีหน้าดำคล้ำควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีสีดำ และมีรสเค็มให้น้อย มิฉะนั้นอาจทำให้รู้สึกอัดอัดแน่นหน้าอก สีผิวหมองคล้ำ ทั้งนี้ คนที่มีอาการเช่นนี้ควรรับประทานอาหารจำพวกสาหร่ายทะเลให้มาก

สีขาว บำรุงปอด รสเผ็ดเข้าสู่ปอด หากอยากให้ผิวพรรณผ่องใส ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีสีขาวและมีรสเผ็ดให้มาก เช่น ก้านอ่อนของหน่อไม้น้ำ หัวหอม เป็นต้น

สรรพคุณของรสผักผลไม้ทั้งห้า

รสทั้งห้าของผักและผลไม้ประกอบด้วยรสหวาน ขม เผ็ด เปรี้ยว และเค็ม ความจริงแล้วทั้ง 5 รส เป็นเพียงการแบ่งอย่างกว้างๆ และถือเป็นพื้นฐานของรสชาติ ความจริงแล้วยังมีรสชาติอีกหลายรสชาติ เช่น รสปร่า รสซ่า รสมัน รสผสม เช่น หวานอมเปรี้ยว เป็นต้น จึงมีคำกล่าวว่า ผู้ใดสามารถแยกรสชาติของอาหารได้ถึง 100 รสชาติ ผู้นั้นเป็นเซียน ซึ่งคำกล่าวนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่ารสชาติของอาหาร ผักและผลไม้นั้นมีมากมายหลายรสชาติ

เมื่อเราทราบถึงรสชาติของผักและผลไม้แล้ว ให้เรามาดูว่าแต่ละรสชาติมีผลกระทบอย่างไรบ้างกับร่างกายของเรา

รสหวาน มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย บรรเทาอาการอ่อนล้าของร่างกายและกล้ามเนื้อ ปรับสมดุลให้กับม้ามและกระเพาะอาหาร เป็นต้น ผลเสียก็คือทำให้อ้วนง่าย ในบางกรณีอาจทำให้ปวดกระดูก รสหวานยังมีผลทำให้ผมร่วงได้ ดังนั้นคนที่สังเกตว่าตัวเองผมร่วงมาก ลองพิจารณาดูว่าทานผลไม้หรือขนมหวานมากเกินไปหรือไม่

รสขม มีสรรพคุณช่วยดับร้อน ขจัดพิษในร่างกาย เป็นยาระบายและบำรุงกระเพาะอาหาร มีประสิทธิภาพในการป้องกันและทำลายเซลล์มะเร็ง ช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมไร้ท่อ รสขมมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย แก้อักเสบ และช่วยปรับสมดุลของกรดและด่างในร่างกาย

รสเปรี้ยว มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการหลั่งของต่อมน้ำลาย ทำให้เจริญอาหาร ช่วยกระตุ้นกระเพาะอาหารให้ทำงานและเรียกน้ำย่อยให้ออกมากมากขึ้น เพื่อช่วยกระเพาะอาหารในการย่อยและดูดซึมอาหาร และที่สำคัญช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของตับ การทานผลไม้รสเปรี้ยวไม่ควรทานมากเกินไป ควรทานในปริมาณที่เหมาะสม

รสเผ็ด มีสรรพคุณในการช่วยขับความร้อนออกจากร่างกาย ช่วยในการขับเหงื่อ มีสรรพคุณในการบรรเทาความปวด เช่น ปลาสเตอร์ยาระงับความปวดที่ทำจากสารที่สกัดจากพริก ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น รสเผ็ดยังช่วยละลายเสมหะ และช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของเลือดลมในร่างกาย สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคริดสีดวงทวาร โรคกระเพาะอาหาร และท้องผูก ไม่ควรทานอาหารที่มีรสเผ็ดมากเกินไป ควรทานแต่พอดี

รสเค็ม มีสรรพคุณช่วยลดอาการเจ็บของกล้ามเนื้อ และช่วยปรับสมดุลของร่างกาย สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และชอบรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ควรรับประทานอาหารรสเค็มให้น้อยลง

การดื่มน้ำผลไม้จากการปั่นผลไม้หลายชนิดรวมกันด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้จะช่วยให้เรารับประโยชน์จากผลไม้มากที่สุด